วิทยุกระจายเสียงเป็นเทคโนโลยีสื่อสารมวลชนประเภทสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (electronic media) อาศัยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (electro-magnetic wave) หรือคลื่นวิทยุ (radio wave) ในการส่งสัญญาณเสียง (ผ่านการเป็นคลื่นความถี่แม่เหล็กไฟฟ้า) ออกไปสู่เครื่องรับวิทยุกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ (อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ 2544: 83)
ความเป็นมาของวิทยุกระจายเสียง เริ่มขึ้นจากการค้นพบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ของชาวอังกฤษ ที่มีชื่อว่า เจมส์ คล้าด แมกซ์เวลล์ (James Clerk Maxwell) เมื่อปี พ.ศ.2407 จากการค้นพบในครั้งนี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์จำนวนมาก พยายามศึกษา ค้นคว้า เพื่อที่จะนำเอาคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามาใช้งาน จนในที่สุด ได้มีนักวิทยาศาสตร์ ชาวเยอรมัน รูดอล์ฟ ไฮน์ริช เฮิทช์ ( Rudolph Heinrich Hertz ) เขาได้ผลิตเครื่องมือที่สามารถนำคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในอากาศมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการสื่อสารได้ และได้ประกาศให้ได้รับรู้ในปี พ.ศ.2429 และผลงานชิ้นนี้ก็ได้รับการยกย่องเรียกเป็นคลื่นวิทยุว่า Hertz มาจนกระทั่งปัจจุบัน
จากความสำเร็จของ Hertz ส่งผลให้ กูกลิเอลโม มาร์โคนี่ (Guglielmo Marconi) นักคิดค้นชาวอิตาลี ได้คิดค้นวิธีถ่ายทอดกระแสไฟฟ้าเพื่อส่งสัญญาณ จากห้องทดลองที่สร้างขึ้นภายในบ้าน และจากเครื่องมือทดลอง ที่ประกอบไปด้วยแบตเตอรี่ ลวดทองแดง แผ่นทองแดง และว่าวเท่านั้น โดยเริ่มจากการทดลองส่งสัญญาณ ในระยะใกล้ๆ จนไปถึงระยะทางไกลระหว่างเกาะนิวฟาวด์แลนด์ที่อยู่ใกล้กับเกาะอังกฤษ กับเกาะอังกฤษ หลังจากการค้นพบได้เพียงสามปี ในต้นปี พ.ศ.2441 มาร์โคนี ได้สร้างสถานีวิทยุกระจายเสียง ออกอากาศ แม้ว่าการส่งกระจายเสียงออกอากาศในครั้งนั้น ระยะทางของคลื่นวิทยุไปได้ไม่ไกลนัก แต่การออกอากาศในครั้งนั้น ก็ทำให้ สำนักงานหนังสือพิมพ์ เดลี่ เอ๊กซ์เพสส์ (Daily Express) ในกรุงลอนดอน เกิดความสนใจในเครื่องรับส่งวิทยุของมาร์โคนี และได้ติดต่อขอซื้อไปใช้ในการส่งข่าวสาร หลังจากนั้น มาร์โคนี ได้ปรับปรุงและพัฒนาเครื่องส่งวิทยุของเขา จนในที่สุดเขาก็สามารถผลิตเครื่องส่งวิทยุที่สามารถกระจายเสียงข้ามช่องแคบอังกฤษได้เป็นผลสำเร็จ ในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2442 จึงมีการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ขึ้นในทันที พร้อมทั้งยังมีการพัฒนา เพิ่มประสิทธิภาพเครื่องส่งวิทยุของเขา จนสามารถกระจายเสียงส่งข่าวสารข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกได้ (อุฬาร เนื่องจำนงค์ 2520: 2-3)
ในปี พ.ศ.2444 เป็นปีที่มาร์โคนี ทำการทดลองการสื่อสารแบบไม่มีสาย (wireless) ที่ถือได้ว่าเป็นการทดลองครั้งประวัติศาสตร์ คือ การทดลองส่งสัญญาณข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก การทดลองครั้งนี้ มาร์โคนีเดินทางไปตั้งเครื่องรับสัญญาณวิทยุที่แหลมคอต (Cod Cape) ในสหรัฐอเมริกา เพื่อรับสัญญาณที่จะส่งมาจากอังกฤษ แต่การทดลองครั้งแรกไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากอากาศหนาวจัด ลมหนาวที่พัดอย่างรุนแรงอาจเป็นอันตรายต่อสถานีรับสัญญาณประกอบกับได้รับข่าวว่าเสาอากาศที่เขาติดตั้งไว้ที่โพลคู (poldhu) ประเทศอังกฤษ ถูกพายุพัดได้รับความเสียหายมาก เขาจึงตัดสินใจย้ายไปทำการทดลองที่เกาะนิวฟาวด์แลนด์ ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ มาร์โคนีพร้อมกับผู้ช่วยของเขาได้ติดตั้งเครื่องรับวิทยุบนยอดเขา เรียกว่า “ซิกแนล ฮิลล์” ( Signal Hill ) ได้สำเร็จและเริ่มรับสัญญาณที่ส่งมาจากประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2444 การทดลองครั้งนี้นับเป็นความสำเร็จยิ่งใหญ่ของมาร์โคนี ชื่อเสียงของเขาได้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ เช่น นิวยอร์กไทม์และลอนดอนไทม์ ได้ลงพิมพ์ยกย่องมาร์โคนีว่า เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของโลก (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช 2531: 53)
สำหรับเครื่องรับวิทยุในสมัยแรกนั้น ผู้ฟังจะต้องใช้เครื่องฟังเสียงครอบลงที่ใบหู เพราะเครื่องรับวิทยุในขณะนั้นให้เสียงที่เบามาก และการแยกคลื่นของสถานีก็ยังไม่ได้ผลที่ดีนัก ประกอบเสียงที่ยังไม่ดังพอ ทำให้ไม่สามารถฟังได้หลายคน จึงมีการคิดค้น ให้เครื่องรับสามารถเพิ่มเสียงได้ เพื่อที่จะได้เพิ่มจำนวนของผู้ฟังให้มากขึ้น ในที่สุด จอห์น แอมโบรส เฟลมมิ่ง (John Ambrose Fleming) ชาวอังกฤษ ได้นำหลอดไฟฟ้า ที่คิดค้นขึ้น โดย โธมัส เอดิสัน (Thomas Edison) ชาวอเมริกัน มาใช้ในการพัฒนาและปรับปรุง จนสามารถส่งคลื่นออกอากาศได้ในรัศมีที่ไกลขึ้นและสามารถทำให้วิทยุกระจายเสียงมีเสียงดังฟังชัดขึ้นสำเร็จ ในปี พ.ศ.2444
ที่มา... http://region4.prd.go.th/techno_it/index.php?option=com_content&view=article&id=342:2009-12-21-07-30-16&catid=54:2009-12-14-06-28-10&Itemid=13
ความคิดเห็น
ต้องชื่นชมให้กับผู้ที่สามารถคิดค้นการสื่อสารวิทยุกระจายเสียงและ ไม่หยุดพัฒนาเพื่อให้เป็นการสื่อสารที่ดีสมบูรณ์แบบ ถึงแม้จะมีอุปสรรค สัญญานรบกวนแต่ผู้คิดค้น ก็ยังแก้ไขได้ ทำให้การสื่อสารในรูปแบบวิทยุกระจายเสียงมีประโยชน์ต่อสังคมมาถึงทุกวันนี้